วันพฤหัสบดีที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ทักษะการอ่าน 2

4. การอ่านสะกดคำ
         การอ่านในใจเรามักไม่คำนึงถึงการสะกดคำ เพราะมุ่งอ่านเนื้อความอย่างรวดเร็วแต่ในการอ่านออกเสียงนั้น การสะกดคำ มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ผู้อ่านจำเป็นต้องอ่านให้ถูกต้องตามพจนานุกรม หรือการอ่านชื่อเฉพาะในพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้กำหนดคำอ่านไว้โดยอาศัยการเทียบแนวภาษาเดิมที่เป็นคำบาลี-สันสกฤต หรือคำที่อ่านตามความนิยมมาจนเป็นที่ยอมรับทั่วไปก็อนุโลมให้อ่านได้เป็นบางกรณี แต่มิใช่จะอ่านตามความสะดวกได้เสมอไปขอยกตัวอย่างเพื่อให้เป็นแนวทางในการอ่านและเพื่อให้เกิดความระมัดระวังในการอ่านคำอื่น หากคำใดไม่แน่ใจให้นิสิต เปิดดูคำอ่านในพจนานุกรมได้
5. บทบาทของการอ่านที่มีต่อมนุษย์
         การอ่านหนังสือมีบทบาทสำคัญในยุคปัจจุบันนี้มาก อาจกล่าวได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการศึกษาเล่าเรียน การประกอบอาชีพ ด้านบุคลิกภาพ นันทนาการและด้านพัฒนาสังคมและประเทศชาติ ถึงจะมีสื่อมวลชนอื่น เช่น วิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ ที่เสนอข่าวสารต่าง ๆ ได้รวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์ คนเราก็ต้องอ่านหนังสืออยู่นั้นเองเพราะว่าให้รายละเอียดต่าง ๆ ได้มากกว่า สุวิมล โฮมวงศ์ ( 2535 ) ได้ให้ความเห็นของบทบาทของการอ่านที่มีต่อมนุษย์ดังนี้
      1) บทบาทด้านการศึกษา
           การเรียนในระดับอุดมศึกษา นิสิตจะต้องศึกษาจากตำรับตำราที่มีอยู่ในห้องสมุดเป็นส่วนใหญ่ซึ่งต้องใช้การอ่านเป็นประจำ ผู้ที่อ่านมากย่อมได้เปรียบกว่าผู้ที่อ่านน้อย และผู้ที่อ่านเก่งย่อมอ่านหนังสือได้รวดเร็วสามารถเข้าใจเรื่องราวที่อ่านจับใจความได้ถูกต้องแม่นยำ รู้จักวิธีอ่านหนังสือว่าเล่มไหนควรใช้วิธีอ่านอย่างไร สามารถประเมินผลจากสิ่งที่ตนอ่านรวมทั้งมีวิจารณญาณในการอ่านสามารถวิจารณ์ได้ ดังนั้น ผู้ที่อ่านเป็นเท่านั้นจึงจะสามารถได้รับความรู้และประสบผลสำเร็จในการศึกษาเล่าเรียน
      2) บทบาทด้านอาชีพ
            การอ่านผูกพันอยู่กับบุคคลทุกอาชีพที่มุ่งหวังความเจริญก้าวหน้าเพราะผู้ประกอบอาชีพที่ดีนั้นจำเป็นต้องขวนขวายหาความรู้เพื่อเพิ่มพูนปรับปรุงสมรรถภาพในการทำงานของตนอยู่เสมอทั้งนี้ก็เนื่องจากว่าการงานทุกชนิดก็ต้องมีการแข่งขันกันอยู่ตลอดเวลาบุคคลที่พยายามก้าวไปข้างหน้าเท่านั้นจึงจะมีชัยในการแข่งขันบุคคลที่ฉลาดและยึดหนังสือเป็นหลักโดยการอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับอาชีพนั้น ๆ ย่อมทำให้บุคคลเหล่านั้นมีความรู้กว้างขวางและประสบผลสำเร็จในการประกอบอาชีพของตนเองได้อย่างมีความสุข
      3) บทบาทด้านการปรับปรุงบุคลิกภาพ
           สภาพสังคมในสมัยนี้ มีความยุ่งยากสลับซับซ้อนและมีปัญหาของสังคมมากมายจนทำให้คนบางคนประสบชะตากรรมที่น่าสงสารอย่างยิ่ง เป็นต้นว่าไม่อยากสมาคมกับใคร ๆ เพราะคิดว่าตนเองมีปมด้อย บางคนไม่กล้าเผชิญหน้ากับปัญหาไม่กล้าร่วมกิจกรรมทางด้านสังคมกับเพื่อนฝูง กลายเป็นคนเหงาหงอย ถ้าหากบุคคลผู้มีปัญหาดังกล่าว ได้กลับมาสนใจในการอ่านหนังสือประเภทสังคมศาสตร์ จริยศาสตร์จิตวิทยา การตอบและแก้ไขปัญหาชีวิต ก็จะทำให้สุขภาพจิตดีขึ้น และยังจะช่วยให้รู้จักวิธีการวางตัวได้อย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของสังคมนั้น ๆ อย่างมีความสุขทำให้เป็นคนมองโลกในแง่ดีเสมอ
      4) บทบาทด้านนันทนาการ
           ในปัจจุบันนี้การเสาะแสวงหาความบันเทิงเริงรมย์เป็นไปได้โดยง่ายและมีหลายรูปแบบ เช่น การดูภาพยนตร์ โทรทัศน์ และการฟังเพลง เป็นต้น แต่มีอีกแบบหนึ่งที่เป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุด นั่นคือ การอ่านหนังสือ อาจจะเป็นหนังสือโบราณคดีกวีนิพนธ์ สารคดี นวนิยาย หนังสือพิมพ์รายวัน นอกจากจะทำให้ผู้อ่านได้รับความรู้ความบันเทิงแล้ว ยังจะเป็นทักษะฝึกการอ่านอีกด้วย
      5) บทบาทด้านพัฒนาสังคมและพัฒนาประเทศ
            การพัฒนาประเทศจะประสบผลสำเร็จได้นั้น ประเด็นสำคัญอยู่ที่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นเบื้องต้น กล่าวคือ ให้ประชาชนมีการศึกษา เป็นผู้รู้หนังสือในระดับที่พอจะเป็นพื้นฐานในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองและการพัฒนาประเทศต่อไปทั้งนี้เพราะการที่ประชากรเป็นผู้รู้หนังสือและมีนิสัยรักการอ่านย่อมจะมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้ชีวิตของคนเราประสบความสำเร็จอย่างสมบูรณ์ ทั้งในด้านเศรษฐกิจสังคมและความเป็นอยู่ ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาตนเอง พัฒนาสังคม และพัฒนาประเทศชาติในที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น