วันพฤหัสบดีที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การอ่านตีความ

การอ่านตีความ         (การวินิจสาร,พินิจสาร,วินิจฉัยสาร)
การอ่านตีความ เป็นการอ่านเพื่อหาความหมายที่ซ่อนเร้น หรือหาความหมายที่แท้จริงของสาร โดยพิจารณาข้อความที่อ่านว่าผู้เขียนมีเจตนาให้ผู้อ่าน เกิดความคิดหรือความรู้อะไรนอกเหนือไปจากการรู้เรื่อง
* ความสำคัญของการอ่านตีความ
1.             ช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องที่อ่านได้หลายด้านหลายมุม
2.             ทำให้เห็นคุณค่าและได้รับประโยชน์จากสิ่งที่อ่าน
3.             ช่วยฝึกการคิดไตร่ตรองหาเหตุผล
4.             ทำให้มีวิจารณญาณในการอ่าน
* ประเภทของการอ่านตีความ  แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
                1.    การอ่านออกเสียงอย่างตีความ (การอ่านตีบท) เป็นการอ่านแบบทำเสียงให้สมบทบาท ใส่อารมณ์กับบทที่อ่านและความรู้สึกให้เหมาะสม
                2.    การอ่านตีความเป็นการอ่านที่ต้องศึกษาทำความเข้าใจงานเขียนทุกแง่ทุกมุมเพื่อตีความเป็นพื้นฐานของ
การอ่านออกเสียงอย่างตีความ
* ความรู้เกี่ยวกับการอ่านตีความ
1.             เสียง (คำ) และความหมาย เสียงของคำที่แตกต่างกัน ย่อมสื่อความหมายที่แตกต่างกัน ผู้อ่านต้องวิเคราะห์ว่าเสียงของคำที่ผู้เขียนใช้นั้น สัมพันธ์กับความหมายอย่างไร
2.             ภาพพจน์ ผู้อ่านต้องมีความรู้ความเข้าใจเรื่องภาพพจน์ ซึ่งจะช่วยให้การอ่านตีความมีความกว้างขวางลึกซึ้งยิ่งขึ้น เช่น ภาพพจน์ อุปมา อุปลักษณ์ นามนัย อธิพจน์ บุคลาธิษฐาน เป็นต้น
3.             สัญลักษณ์ สัญลักษณ์ในทางวรรณกรรม หมายถึง สิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งมักจะเป็นรูปธรรม ที่เป็นเครื่องแทนนามธรรม เช่น ดอกไม้แทนหญิงงาม พระเพลิงแทนความร้องแรง ฯลฯ แบ่งเป็นลัญลักษณ์ตามแบบแผน และสัญลักษณ์ส่วนตัว
4.             พื้นหลังของเหตุการณ์ คือ ความเป็นไปในสมัยที่งานเขียนเรื่องนั้นได้แต่งขึ้น รวมถึงลัทธิความเชื่อ สภาพภูมิศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และความเป็นอยู่ของยุคสมัยนั้น ๆ
5.             ความรู้อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอ่านตีความ ได้แก่ ความรู้เกี่ยวกับประวัติผู้แต่ง ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สังคมวิทยา เศรษฐศาสตร์ จิตวิทยา ปรัชญา ศาสนา
6.             องค์ประกอบที่ทำให้การอ่านตีความแตกต่างกัน ได้แก่ ความสนใจ ประสบการณ์ จินตนาการ เจตคติ ระดับสติปัญญา ความรู้และวัย
7.             เกณฑ์การพิจารณาการอ่านตีความ การตีความงานเขียน ความผิดถูกไม่ใช่เรื่องสำคัญ อยู่ที่มีความลึกซึ้งกว้างขวางและมีความสมเหตุสมผล
* กลวิธีการอ่านตีความ (กระบวนการอ่านตีความ)
1.             การวิเคราะห์เพื่อการตีความ หมายถึง การพิจารณารูปแบบเนื้อหา กลวิธีการแต่ง และการใช้ภาษาของงานเขียน
2.             พิจารณารายละเอียดของงานเขียน จะต้องพิจารณารายละเอียดต่าง ๆ คือ
2.1   พิจารณาว่าส่วนใดเป็นข้อเท็จจริง เรื่องใดเป็นข้อคิดเห็น ตลอดจนความรู้สึกและอารมณ์ของผู้เขียน 
         ซึ่งอาจแสดงออกโดยตรง หรือแสดงออกโดยผ่านพฤติกรรมของตัวละคร
2.2    วิเคราะห์และรวบรวมปฏิกิริยาของผู้อ่านที่มีต่องานเขียน  เป็นการที่ผู้อ่านวิเคราะห์ตัวเอง
2.3    การพิจารณาความคิดแทรก  หมายถึง  การพิจารณาข้อความรู้ความคิดที่ผู้เขียนมีไว้ในใจ  
          แต่ไม่ได้เขียนไว้ในงานเขียนนั้นตรง ๆ
3.             การตีความงานเขียน นำข้อมูลต่าง ๆ ประมวลเข้าด้วยกัน เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจแล้วตีความงานเขียน ว่าผู้เขียนส่งสารอะไรมาให้แก่ผู้อ่าน
4.             การแสดงความคิดเสริม เป็นการที่ผู้อ่านแสดงความคิดของผู้อ่านเอง โดยที่กระบวนการอ่านตีความนั้นมีส่วนยั่วยุให้คิด เป็นความรู้ ความคิดเห็น ความรู้สึกหรืออารมณ์ที่เกิดขึ้นใหม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น