วันพฤหัสบดีที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

สำนวน สุภาษิตและคำพังเพย

สำนวน สุภาษิต และคำพังเพย
ความหมาย 
       ได้แก่คำพูดที่พูดออกมา  ไม่ว่าจะเป็นทำนองสำนวนโวหาร หรือคำพังเพย แต่มีเนื้อความหรือความหมายที่ดี  เป็นคำตักเตือนสั่งสอน  และสะกิดใจให้ระลึกถึงอยู่เสมอ มีอยู่ 2 ประเภท คือ
1. คำสุภาษิตประเภทที่ พูด อ่าน หรือเข้าใจเนื้อความได้ทันที   โดยไม่ต้องแปลความหมาย  ตีความหมายเช่น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
2. คำสุภาษิตประเภทที่ พูด อ่าน หรือฟังแล้วยังไม่เข้าใจเนื้อความนั้นในทันที ต้องนึกตรึกตรอง ต้องแปลความ  ตีความหมายเสียก่อนจึงจะทราบเนื้อแท้ของคำเหล่านั้น  เช่น  ผีบ้านไม่ดีผีป่าก็พลอย
สำนวน
            ความหมาย ได้แก่คำที่พูดหรือกล่าวออกมาทำนองเป็นโวหาร เป็นคำพังเพยเปรียบเทียบ จึงฟังแล้วมักจะ  ไม่ได้ความหมายของตัวมันเอง   ต้องนำไปประกอบกับบุคคล  กับเรื่อง  หรือเหตุการณ์จึงจะได้ความหมายเป็น คติ เตือนใจเช่นเดียวกับคำที่เป็นสุภาษิต
คำพังเพย 
            หมายถึง ถ้อยคำที่เรียบเรียงขึ้นมาเป็นความหมายกลาง ๆ คือ ไม่เน้นการสั่งสอน แต่ก็แฝงคติเตือนใจหรือ  ข้อคิดสะกิดใจให้นำไปปฏิบัติได้ และ เนื้อหาของใจความนั้นก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นความดี หรือ ความจริงแท้
คำคม
          หมายถึง ถ้อยคำที่คิดขึ้นมาในปัจจุบันทันด่วน เป็นถ้อยคำที่หลักแหลม ซึ่งสามารถเข้ากับเหตุการณ์นั้น ได้อย่างเหมาะเจาะ ทั้งยังชวนให้คิด ถ้าพูดติดปากกันต่อไปก็จะกลายเป็นสำนวนไปได้




ตัวอย่าง  สำนวน สุภาษิต คำพังเพย   เช่น

หมวด  ก

กงกำกงเกวียน  
เวรสนองเวร  กรรมสนองกรรม
กระต่ายหมายจันทร์
หวังในสิ่งที่เกินตัว 
กลมเป็นลูกมะนาว
หลบหลีกไปได้คล่องแคล่วจนจับไม่ติด  ( มักใช้ในทางไม่ดี )
กำขี้ดีกว่ากำตด
ได้บ้างดีกว่าไม่ได้อะไรเลย 
กำแพงมีหู ประตูมีตา
การที่จะพูดหรือทำอะไรให้ระมัดระวัง แม้จะเป็นความลับเพียงไรก็อาจมีคนล่วงรู้ได้ 
กิ่งทองใบหยก
เหมาะสมกัน  ใช้แก่หญิงกับชายที่จะแต่งงานกัน
กิ้งก่าได้ทอง
ชอบโอ้อวดในสิ่งที่ตนมีเพื่อให้ผู้อื่นรู้ เพื่อให้ผู้อื่นสนใจตน
กินบนเรือนขี้บนหลังคา
เนรคุณ  เป็นผู้ไม่รู้คุณของผู้อื่น
แกว่งตีนหาเสี้ยน
รนหาเรื่องเดือดร้อน
ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่
ต่างฝ่ายต่างรู้ความลับซึ่งกันและกัน


หมวด ข

ขมิ้นกับปูน
ชอบวิวาทกันอยู่เสมอเมื่ออยู่ใกล้กัน , ไม่ถูกกัน
ข้าวใหม่ปลามัน
อะไรที่เป็นของใหม่ก็ถือดี , นิยมเรียกช่วงที่สามีภรรยาเพิ่งแต่งงานกันใหม่ ๆ ว่า "ข้าวใหม่ปลามัน"  
เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา
บอกหรือสอนแล้วไม่ได้ผล
เข็นครกขึ้นภูเขา
ทำงานที่ยากเกินความสามารถของตนเอง


หมวด  ค

คมในฝัก
 ลักษณะของผู้ฉลาด  แต่นิ่งเงียบ ไม่แสดงความฉลาดนั้นออกมาโดยไม่จำเป็น มีความรู้ความสามารถ แต่เมื่อยังไม่ถึงเวลาก็ไม่แสดงออกมาให้ปรากฎ  
ความวัวไม่ทันหายความควายเข้ามาแทรก
ความวุ่นวายเดือดร้อนอีกอย่างหนึ่งเกิดขึ้นมีไม่รู้จบสิ้นหรือผ่านพ้นไป ความวุ่นวาย เดือดร้อนอีกอย่างหนึ่งเกิดขึ้นมาอีก  
คางคกขึ้นวอ
 คนมีฐานะต่ำต้อย พอได้ดิบได้ดีก็มักแสดงกิริยา อวดดีจนลืมตัว


หมวด  ง

งมเข็มในมหาสมุทร
ค้นสิ่งที่ยากจะค้นหาได้ ทำกิจที่สำเร็จได้ยากยิ่ง
งามแต่รูปจูบไม่หอม
มีรูปร่างงาม แต่มีความประพฤติและกิริยามารยาทไม่ดี


หมวด จ

จับปลาสองมือ
โลภมาก มักลาภหาย อยากได้หลายอย่างแต่ในที่สุดไม่ได้สักอย่างเดียว  
จับเสือมือเปล่า
แสวงหาผลประโยชน์โดยตัวเองไม่ต้องลงทุน


หมวด ช

ชักใบให้เรือเสีย
พูดหรือทำขวางๆ ให้การสนทนาหรือการทำงานขวางออกนอกเรื่อง
ช้างตายทั้งตัวเอาใบบัวมาปิด
ความชั่ว หรือความผิดร้ายแรงที่คนทั่วไปรู้จักกันทั่วแล้ว จะปิดยังไงก็ปิดไม่มิด  
ชิงสุกก่อนห่าม
ด่วนทำสิ่งที่ยังไม่สมควรแก่วัยหรือไม่ถึงเวลา
หมวด ซ

ซื้อควายหน้านา  ซื้อผ้าหน้าตรุษ
ซื้อของไม่คำนึงถึงกาเวลา  ของที่ถูกก็ต้อง ซื้อแพง, ทำอะไรไม่เหมาะกับกาลเวลา


หมวด ด

ดาบสองคม
มีทั้งคุณและโทษ , อาจดีอาจเสียก็ได้
ได้ทีขี่แพะไล่
ซ้ำเติมเมื่อผู้อื่นเพลี่ยงพล้ำลง


หมวด ต

ตักน้ำรดหัวตอ
แนะนำพร่ำสอนเท่าไหรก็ไม่ได้ผล     
ตัดหางปล่อยวัด
ตัดขาดไม่เกี่ยวข้อง  ไม่เอาเป็นธุระอีกต่อไป
ตำข้าวสารกรอกหม้อ
หาเพียงแต่พอกินไปมื้อหนึ่ง ๆ , ทำให้พอเสร็จไปชั่วครั้งหนึ่งๆ   
ตีวัวกระทบคราด
โกรธคนหนึ่งแต่ทำอะไรเขาไม่ได้ไพล่ไปรังควาน    


หมวด  ถ

เถียงคำไม่ตกฟาก
พูดคำเถียงคำไม่หยุดปาก , เถียงโดยไม่ฟังเหตุผล


หมวด  ท

ทำนาบนหลังคน
ทำกินโดยเอารัดเอาเปรียบผู้ที่ออกแรงทำงานนั้นๆ


หมวด น

น้ำขึ้นให้รีบตัก
มีโอกาสก็ควรรีบทำ
น้ำพึ่งเรือ  เสือพึ่งป่า
พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น